
ปลาการ์ตูน เป็นปลากระดูกแข็งขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในทะเล และอยู่ในวงศ์ย่อย Amphiprioninae ในวงศ์ปลาสลิดหิน (Pomacentridae) ปลาการ์ตูนมีสีสันสวยงามโดยทั่วไปประกอบด้วยสีส้ม, แดง, ดำ, เหลือง และมีสีขาวผ่านกลางลำตัว 1-3 แถบ แม้จะเป็นชนิดเดียวกัน ก็จะมีสีแตกต่างกันเล็กน้อยเสมอ ซึ่งความแตกต่างนี้ทำให้จดจำคู่ได้
นอกจากนี้ แหล่งที่อยู่อาศัยที่แตกต่างกันทำให้เกิดการแปรผันด้วย ปลาการ์ตูนอยู่กันเป็นครอบครัว กินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร เป็นปลาที่หวงถิ่นมาก มีเขตที่อยู่ของตนเอง พบอาศัยอยู่ตามแนวปะการังในบริเวณเส้นศูนย์สูตรทั่วโลก อาศัยอยู่ตามแนวปะการังกับดอกไม้ทะเล
ปัจจุบัน ปลาการ์ตูนทั่วโลกพบทั้งหมด 30 ชนิด ในน่านน้ำไทยพบปลาการ์ตูน 7 ชนิด ทั้งด้านอ่าวไทยและอันดามันได้แก่ ปลาการ์ตูนส้มขาว (Amphiprion ocellaris), ปลาการ์ตูนอินเดียนแดง (A. akallopisos), ปลาการ์ตูนมะเขือเทศ (A. frenatus), ปลาการ์ตูนอานม้า (A. polymnus), ปลาการ์ตูนลายปล้อง (A. clarkii), ปลาการ์ตูนลายปล้องหางเหลือง (A. sebae) และปลาการ์ตูนแดง (Premnas biaculeatus) ปลาการ์ตูนมีลำตัวรูปทรงไข่ (Oval Shape) มีรูปร่างแบนข้าง (compress) หัวค่อนข้างกว้าง โดยเฉพาะบริเวณหน้าผาก ลูกตากลมโต เเละโปนเล็กน้อย ส่วนปากอยู่ปลายสุดของจะงอยปากเฉียงขึ้นเล็กน้อย มีฟันแหลมคม ครีบทุกครีบมีลักษณะกลม ทำให้ว่ายน้ำได้ช้า ครีบที่เป็นครีบคู่ (Pair Fins) ได้แก่ ครีบอก (pectoral fin) และครีบท้อง (pelvic fin) เพื่อใช้ในการทรงตัว บังคับทิศทาง และว่ายถอยหลัง
ครีบเดี่ยว (Median Fins) ได้แก่ ครีบหลัง และครีบก้น โดยครีบหลังประกอบด้วยส่วนก้านครีบแข็ง (Dorsal Spines) และก้านครีบอ่อน (Fin Rays) เป็นโครงร่างค้ำจุน บางชนิดครีบหลังเว้าลงตรงกลางทำให้คล้ายถูกแบ่งออกเป็น 2 ตอน บางชนิดครีบหลังยาวตลอดจนถึงคอดหาง โดยแบ่งครีบหลังเป็น 2 รูปแบบ คือ ครีบหลังเดี่ยว เช่น ปลาการ์ตูนในกลุ่มปลาการ์ตูนมะเขือเทศ (Tomato Complex) ส่วนครีบหลังสองตอน เช่น กลุ่มปลาการ์ตูนส้มขาว (Percula Complex) ปลาการ์ตูนใช้ครีบเดี่ยวในการทรงตัว และว่ายตรง ส่วนครีบหางในปลาชนิดอื่นจะใช้ในการว่ายไปด้านหน้า
ทำให้ปลาการ์ตูนใช้ครีบเดี่ยวและครีบอกในการเคลื่อนที่ ลำตัวของปลาการ์ตูนปกคลุมด้วยเกล็ด ทำหน้าที่ช่วยป้องกันการบาดเจ็บและติดเชื้อ บนเกล็ดจะมีชั้นเมือกปกคลุมที่ช่วยในการว่ายน้ำ ป้องกันการติดเชื้อ และยังช่วยป้องกันเข็มพิษจากดอกไม้ทะเล

ปลาการ์ตูน ออกลูกเป็นไข่และสามารถเปลี่ยนเพศได้ ปลาการ์ตูนจะเปลี่ยนเพศเมื่อสิ่งแวดล้อมกำหนดบทบาทให้ ระยะแรกเริ่มหลังจากที่ฟักออกจากไข่ยังไม่สามารถกำหนดได้ว่าเป็นเพศใด จนกว่าจะเป็นตัวเต็มวัยจึงจะปรากฏเป็นปลาเพศผู้ และในปลารุ่นเดียวกันที่มีขนาดใหญ่ที่สุดจะต้องเปลี่ยนแปลงเป็นปลาเพศเมีย ในสังคมของปลาการ์ตูนกลุ่มหนึ่ง ๆ จะมีปลาเพศเมียเพียงตัวเดียวเท่านั้น ตัวใหญ่ที่สุดในฝูง สีสันไม่สดใสมากนัก พฤติกรรมก้าวร้าว
ส่วนปลาเพศผู้มีขนาดเล็กกว่า สีสันสวยงามกว่า จากปลาเพศผู้ เมื่อมีสิ่งเร้าจากภายนอกและภายในเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ เทเลนฟาลอน (Telenephalon) จะส่งสัญญาณมาที่ทาลามัส (Thalamus) และไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) ส่งคำสั่งไปยังต่อมใต้สมองให้หลั่งฮอร์โมนเฉพาะของเพศผู้ อวัยวะเป้าหมายส่วนที่ จะพัฒนาจนสามารถทำงานได้คืออัณฑะผลิตสเปิร์ม ส่วนตัวที่ใหญ่ ที่สุดจะมีพัฒนาการตรงกันข้าม ไฮโปธาลามัสจะส่งคำสั่งไปยังต่อมใต้สมองให้หลั่งฮอร์โมนเฉพาะของเพศเมีย อวัยวะเป้าหมายคือรังไข่ ผลิตไข่ และถ้าเพศเมียตายไป ปลาการ์ตูนเพศผู้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด แข็งแกร่งที่สุด จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเพศทดแทนด้วยกลไกแบบหลังภายใน 4 สัปดาห์ โดยจะเพิ่มขนาดอย่างรวดเร็ว พร้อมสีสันสวยน้อยลง ปลาการ์ตูนมีระบบชนชั้นภายในฝูง โดยตำแหน่งหัวหน้าฝูงจะเป็น ปลาเพศเมียตัวที่ใหญ่ที่สุด และลดหลั่นกันไปจนถึงตัวที่มีขนาดเล็กที่สุด นอกจากนี้แล้ว ในเวลากลางคืนที่ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดน้อยลง ปลาการ์ตูนจะโบกครีบไปมาเพื่อให้เกิดกระแสน้ำไหลผ่านดอกไม้ทะเลเพื่อให้ออกซิเจนอีกด้วย
อันที่จริงแล้วปลาการ์ตูนก็ได้รับพิษเช่นกัน แต่รู้จักปรับตัวโดยใช้วิธีว่ายเข้าไปสัมผัสกับดอกไม้ทะเลที่ละน้อย ๆ แล้วถอยออกมา ทำอยู่จนกระทั่งร่างกายสร้างเมือกขึ้นมาปกคลุมตัว ช่วยป้องกันเข็มพิษดอกไม้ทะเลได้ในที่สุด แต่ถ้าปลาการ์ตูนปราศจากเมือกอันนี้เมื่อใด ปลาก็จะถูกเข็มพิษของดอกไม้ทะเลทำร้าย จนตายในที่สุด

การเลี้ยงเป็นปลาสวยงามและการเพาะพันธุ์
ปัจจุบันได้มีการเพาะพันธุ์ได้ตามศูนย์วิจัยต่าง ๆ ของกรมประมง หรือฟาร์มของเอกชนทั่วไปเพื่อจำหน่าย โดยสถานที่แห่งแรกที่เพาะพันธุ์ปลาการ์ตูนได้สำเร็จและถือเป็นแหล่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี ของประเทศไทย ที่นำโดย ดร.วรเทพ มุธุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบัน โดยใช้วิธีการให้ปลาวางไข่กับแผ่นกระเบื้องเซรามิกในตู้เลียนแบบธรรมชาติ นับว่าได้ผลสำเร็จดี ซึ่งในปัจจุบัน ก็ยังคงวิจัยศึกษาและพัฒนาการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ให้ได้ผลดียิ่งขึ้นต่อไปได้
การนำปลาที่เพาะพันธุ์ได้ไปปล่อยลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ
ลูกปลาการ์ตูนบางส่วนที่หน่วยงานกรมประมงเพาะพันธุ์ได้ จะถูกนำไปปล่อยคืนในแหล่งน้ำธรรมชาติที่เหมาะสมซึ่งปลาการ์ตูนสามารถ ดำรงชีวิตอยู่ได้ โดยการปล่อยปลาการ์ตูน จะต้องมีการปรับสภาพให้ปลามีคุ้ยเคยกับแหล่งที่จะปล่อยปลาการ์ตูนเหล่านั้น เพื่อให้รอดพ้นจากการถูกทำร้ายจากสัตว์น้ำชนิดอื่น และดำรงชีวิตต่อไปได้
นอกจากนี้ การเลี้ยงปลาการ์ตูนเป็นที่นิยมในวงการผู้เลี้ยงปลานานาชนิด เนื่องจากมีสีสันสวยงามและความเป็นสัตว์เลี้ยงลูกเป็นเพศผู้ที่มีพฤติกรรมที่น่าสนใจ นักเลี้ยงปลาจะต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้กับปลาการ์ตูน เช่น การให้ระบบกรองน้ำที่เหมาะสมและการควบคุมคุณภาพน้ำอย่างใกล้ชิด
ติดตามสัตว์ทะเลเพิ่มเติม :: ปลาทะเลมีอะไรบ้าง